เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงด้วยการใช้มือหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งดีดที่สาย แล้วเกิดเสียงดังขึ้น เราจะรวมเรียกว่า “เครื่องดีด” เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในเครื่องดนตรีตระกูล “พิณ” มีสายสำหรับดีด มีทั้งที่ตั้งขึ้นดีดและวางราบดีด ในประเทศไทยมีหลายชนิด รูปร่างลักษณะ วิธีการดีด และชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น จะเข้ พิณ ๕ สาย พิณเปี๊ยะหรือพิณเพี้ยะ พิณน้ำเต้า ซึง พิณอีสาน กระจับปี่ เป็นต้น
ตัวอย่าง
1. กระจับปี่ เป็น พิณชนิดหนึ่ง มี ๔ สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมน ด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย ๔ ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน" หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี ๑๑ นม
บน หน้ากระพุ้งพิณ มีชิ้นไม้หรือชิ้นโลหะรองสายไว้เรียกว่า "หย่อง" ทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงสะเทือน จากการดีดสายลงมาสู่ ตัวกระพุ้งพิณ เวลาบรรเลงใช้นิ้วจับไม้ดีดเขี่ยสาย เพื่อให้เกิดเสียง ไม้ดีดปักทำด้วยงาช้าง เขาสัตว์ หรือวัสดุที่มีลักษณะ แบนและบาง กระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนู ตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย
2. จะเข้ สัณนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากมอญ เดิมทำเป็น รูปร่างเหมือน จระเข้ ไทยใช้จะเข้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และคงเล่นอย่างบรรเลงเดียว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้นำจะเข้เข้ามาผสมแทนกระจับปี่ เพราะเสียงดีกว่าและดีดได้สะดวกกว่า
จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุนเพราะให้เสียงกังวาลดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ ซึ่งมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขามีสาย ๓ สาย คือ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียวสายที่สามเรียก สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง ทั้งสามสายนี้ขึงจากหลักตอนหัวผ่าน โต๊ะ (กล่องทองเหลืองกลวง)ไปพาดกับ "หย่อง" แล้วสอดลงไปพันกันด้านลูกบิด(ปักทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น ระหว่างราง ด้านบนกับสายจะเข้ จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า "นม" ๑๑นม วางเรียงไปตามแนวยาว เพื่อรองรับการกด จากนิ้วมือขณะบรรเลง นมเหล่านี้มีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป ทำให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์ กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะพันติดกับนิ้วชี้มือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดนิ้วบนสายถัดจากนม ไปทางซ้ายเล็กน้อย เพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ
3. พิณน้ำเต้า สันนิษฐานว่า พิณมีกำเนิดในประเทศ ทางตะวันออก พิณโบราณเรียนพิณน้ำเต้า ซึ่งมีลักษณะเป็นพิณสายเดี่ยว สันนิษฐานว่าชาวอินเดียนำมาแพร่หลาย ในดินแดนสุวรรณภูมิ การที่เรียกว่าพิณน้ำเต้า เพราะใช้ เปลือกผลน้ำเต้ามาทำ คันพิณที่เรียกว่า ทวน ทำด้วยไม้เหลา ให้ปลายข้างหนึ่ง เรียวงอนโค้งขึ้นสำหรับผูกสาย ที่โคนทวน เจาะรูแล้วเอาไม้มาเหลาทำลูกบิด สำหรับบิดให้สายตึงหรือหย่อน เพื่อให้เสียงสูงต่ำ สายพิณมีสายเดียวเดิมทำด้วยเส้นหวาย ต่อมาใช้เส้นไหม และใช้ลวดทองเหลืองในปัจจุบัน
การดีดพิณน้ำเต้า ปกติผู้ดีดจะไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวน เอากะโหลกพิณประกบติดกับเนื้อที่อกเบื้องซ้ายใช้มือขวาดีดสาย ขยับกะโหลกปิดเปิดที่ทรวงอก เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามที่ต้องการ ใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอ เพื่อให้สายตึงหย่อน การดีดจะประสานกับเสียงขับร้องของผู้ดีดเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น